1688 จากการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลของผู้บริโภคทั่วอาเซียน ทำให้อาเซียนสามารถใช้เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อออนไลน์ในการขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
ซึ่งหมายถึงโอกาสสำคัญของธุรกิจต่างๆ ที่จะมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่เคย
จากรายงานเจาะลึก 10 Insight Digital Consumer ASEAN 2020 ของ Facebook ฉบับนี้จะทำให้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจและเป็นแนวโน้มใหม่ของผู้บริโภคที่น่าจับตามอง โดยสรุปออกมาได้ดังนี้
1. คุณภาพชีวิตมีผลต่อการเข้าสู่โลกออนไลน์ การที่คนส่วนใหญ่ในอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งผลให้พวกเขาเข้าสู่การใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้นตาม เช่น การเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนในราคาที่แพงขึ้น คุณภาพดีขึ้น ทำให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์มากกว่าเดิม จากรายงานพบว่า ผู้บริโภคออนไลน์ในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 90 ล้านคนเป็น 250 ล้านคนระหว่างปี 2015-2018 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.2 เท่าในปี 2025 เลยทีเดียว
2. อัตราการใช้เงินบนออนไลน์พุ่งสูงขึ้น เมื่อชาวอาเซียนได้เข้าสู่โลกออนไลน์ ทำให้การใช้จ่ายแบบดิจิทัลเพิ่มสูงกว่าเดิมและจะโตแซงหน้าอัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้มาออนไลน์รายใหม่ โดยรายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าตัวเลขการใช้เงินบนออนไลน์ของชาวอาเซียนทั้งหมดนั้นจะเพิ่มขึ้นกว่า 3.2 เท่า ในระหว่างปี 2018-2025
3. เสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภคจะเป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์ แม้สัดส่วนการซื้อสินค้า 2 ประเภทนี้บนร้านค้าออนไลน์จะยังต่ำมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ แต่นั่นหมายถึงโอกาสของแบรนด์ที่จะได้เติบโตอีกมากและสามารถกระตุ้นให้สัดส่วนการใช้เงินบนออนไลน์ในสองกลุ่มนี้โตขึ้นได้เป็นอันดับต้นๆ จนอาจทำให้ตัวเองกลายเป็นเจ้าตลาดได้ไม่ยาก
4. ผู้คนซื้อสินค้าออนไลน์แบบไม่ได้ตั้งใจ โดย 70% ของนักช็อปออนไลน์มักซื้อของที่ตัวเองไม่คิดว่าจะซื้อ เมื่อพวกเขาเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ค้นหาสินค้าบางอย่าง แต่มักจะเผลอซื้ออะไรสินค้าอื่นๆ ติดมือกลับมาอยู่เสมอ
5. การค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ซึ่ง 86% ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า พวกเขามักเปรียบเทียบสินค้าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันก่อนจะตัดสินใจเลือกช่องทางที่คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความสะดวก ระยะเวลาที่จะได้รับสินค้าและค่าใช้จ่ายโดยรวมเมื่อเทียบกับทั้ง 2 ช่องทาง
6. ส่วนลดช่วยให้คุณได้ลูกค้า แต่ไม่ได้ทำให้คุณได้ใจลูกค้า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ส่วนลดมักจะทำให้คุณได้ลูกค้าใหม่ๆ มาเสมอ แต่กลับไม่ได้ส่งผลที่ดีต่อธุรกิจในระยะยาวแม้แต่น้อย กว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด กล่าวว่า พวกเขามักซื้อสินค้าต่างๆ โดยไม่ได้รอส่วนลดหรือโปรโมชั่นเสมอไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของพวกเขาล้วนๆ
7. Social Media ยังคงเป็นปัจจัยหลักให้ผู้บริโภคในอาเซียนรู้จักและตัดสินใจซื้อ กว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคอาเซียนกล่าวว่า พวกเขามักจะเจอสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ในขณะที่การค้นหาบนออนไลน์ทำให้พวกเขาเจอสินค้าใหม่ๆ เพียง 22% เท่านั้น
8. การสร้างความภักดียังดึงลูกค้าได้ดี การสร้างความภักดีกับลูกค้าในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมแต้มหรืออะไรก็ตามนั้น สามารถทำให้ผู้บริโภคยอมกลับมาซื้อซ้ำได้จริง โดยซื้อมากขึ้นและยอมซื้อสินค้าหรือบริการประเภทอื่นๆ จากร้านค้าเดียวกันอีกด้วย ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคยินดีที่จะช่วยโปรโมทแบรนด์ให้ฟรี เมื่อวิธีการสร้างความภักดีนั้นทำให้พวกเขาประหยัดได้ในระยะยาว พวกเขาก็จะเลือกซื้อแบรนด์นั้นซ้ำมากกว่ารอโปรโมชั่นหรือส่วนลดจากร้านค้าอื่นๆ
9. โอกาสการเป็นเจ้าตลาดในอาเซียนยังมีลุ้น ในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีเว็บไซต์หรือแบรนด์ใดที่ก้าวเข้ามาเป็นเจ้าตลาด E-commerce ที่แท้จริงได้ เพราะเจ้าใหญ่ในตลาดยังไม่ทิ้งกันขาด เช่น Shopee กับ Lazada ซึ่งต่างจาก Amazon ในสหรัฐที่เป็นเจ้าตลาดที่เพียงหนึ่งเดียว หรือแม้แต่ในจีนก็ตามที่ Alibaba ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Taobao Tmall 1688 ฯลฯ ซึ่งกินส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่กว่าเจ้าอื่นหลายเท่า ดังนั้น ใครที่อยากเป็นเจ้าตลาดในอาเซียนต้องรีบเร่งสร้างความภักดีต่อแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำมากขึ้น อ่านต่อ 10 เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือ ให้ร้านค้าออนไลน์
10. แบรนด์ใหญ่ต้องสร้างโมเดลธุรกิจแบบติดต่อลูกค้าโดยตรง จากการเข้ามาของยุคดิจิทัลที่ทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารได้ง่ายขึ้นและไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางหรือนายหน้า ดังนั้นธุรกิจใหญ่ที่เกิดมาก่อนยุคดิจิทัลหรือออนไลน์จะต้องเริ่มวางแผนในการติดต่อกับลูกค้าโดยตรง เพราะสามารถสร้างประสบการณ์ในการซื้อขายสินค้ากับลูกค้า รวมทั้งสามารถควบคุมสินค้าและบริการได้เอง
ในยุคนี้ผู้คนในอาเซียนก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานออนไลน์จะไม่สูงมาก แต่อัตราการใช้เงินบนออนไลน์นั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการขนส่งที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกอุตสาหกรรมทำให้แนวโน้มของธุรกิจออนไลน์ในอนาคตนั้นมีโอกาสเติบโตมากขึ้น
ที่มา: Nattapon Muangtum จาก www.everydaymarketing.co